ไขข้อสงสัย! ภูมิแพ้ผิวหนังและลมพิษ คือโรคเดียวกันหรือไม่?
สำหรับคนที่มักมีอาการภูมิแพ้ผิวหนังและลมพิษ เกิดเป็นผด ผื่นคัน เกิดรอยนูนแดงขึ้นตามผิวหนัง ยิ่งเกายิ่งคัน และเกิดผิวหนังลอกแสบ ส่วนมากจะพบบริเวณข้อพับแขนขา และลำคอ ซึ่งอาการคันเหล่านี้สร้างปัญหามากมายต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะนอกจากอาการคันจะทำให้รู้สึกวิตกกังวล ไม่สบายตัวแล้ว ยังทำให้เสียบุคลิกภาพ เพราะต้องหยุกหยิกหรือเผลอเกาอยู่ตลอดเวลา
หลายคนคงเกิดข้อสงสัยว่าอาการคันที่มักมารบกวนร่ายกายและจิตใจอยู่นี้ เป็นอาการของภูมิแพ้ผิวหนังหรือลมพิษกันแน่ หรือแท้ที่จริงแล้วเป็นโรคเดียวกัน มาทำความรู้จักทั้งสองโรคนี้ให้มากขึ้นไปพร้อมกันเถอะ
ภูมิแพ้ผิวหนัง คืออะไร มีอาการอย่างไรบ้าง?
ภูมิแพ้ผิวหนัง คือ?
ภูมิแพ้ผิวหนังอาจมีอาการใกล้เคียงกับลมพิษ แต่ที่จริงแล้วภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ โดยส่วนมากจะพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี หรือในคนทุกเพศทุกวัยที่ร่างกายมีปัญหาในเรื่องของภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีอาการของโรคภูมิแพ้อยู่แล้วเป็นทุนเดิม คนที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนังจะต่างจากคนที่เป็นลมพิษ ตรงที่มักมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น เยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ ภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงภูมิแพ้ผิวหนังด้วยเช่นกัน
สาเหตุของภูมิแพ้ผิวหนัง
สำหรับภูมิแพ้ผิวหนังยังต่างจากลมพิษตรงที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากอาการแพ้อาหารหรือสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดจากผิวหนังของผู้ป่วยที่มักไว (Sensitive) ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว และสภาพอากาศ ทั้งร้อน เย็น แห้ง หรือชื้น รวมไปถึงการสัมผัสสิ่งสกปรก เชื้อโรค และสารเคมีที่ระคายเคืองผิวอีกด้วย
อาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนังจะมีผิวหนังแห้งอักเสบและมีอาการคันเหมือนลมพิษ และมีลักษณะเป็นผื่นแดงหรือตุ่มนูนแดง ถ้าอาการคันเกิดขึ้นยาวนานและเรื้อรัง ผื่นจะกลายเป็นแผ่นหนา แข็ง และมีขุย โดยในเด็กมักเกิดบริเวณใบหน้า แก้ม คอ ข้อพับ ส่วนผู้ใหญ่มักเกิดในบริเวณ ข้อศอก เข่า คอ มือ และเท้า แต่สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ จะเกิดผื่นขึ้นทั่วตัวได้ โดยอาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนังมักกำเริบขึ้น ด้วยปัจจัยต่อไปนี้
- ผิวหนังของผู้ป่วยสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือตัวกระตุ้น เช่น ละอองเกสร ขนสัตว์ ไรฝุ่น หรือเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา
- เผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งร้อน หนาว ฝน และชื้น
- ผิวหนังสัมผัสสารเคมีในสบู่ ยาสระผม โลชัน ผงซักฟอก และเกิดอาการระคายเคือง คัน นำไปสู่อาการผิวหนังอักเสบได้
- อาหารบางชนิด เช่น นม ไข่ ถั่วเหลือง เป็นตัวกระตุ้นการเกิดผื่นภูมิแพ้ โดยมักพบในผู้ป่วยเด็ก
- ความเครียดและวิตกกังวล สามารถเป็นตัวกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบได้เช่นกัน
ลมพิษ คืออะไร?
หลังจากได้รู้จักภูมิแพ้ผิวหนังแล้ว มาทำความรู้จักลมพิษกันบ้าง
ลมพิษ คืออาการผื่นคันบนผิวหนัง ซึ่งมีลักษณะเป็นปื้นนูนแดงขอบชัดเจน บางครั้งขอบจะหยักนูน ไม่มีขุย มีขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่ 0.5 - 1 เซนติเมตร มักกระจายตามตัว แขน ขา หรือบริเวณใบหน้า และยังเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย รวมทั้งเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย พบมากสุดในช่วงอายุ 20-40 ปี โดยส่วนมากอาการมักคงอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แล้วค่อย ๆ จางหายไป ในบางรายที่อาการรุนแรง จะมีอาการตาบวม ปากบวม ปวดท้อง แน่นจมูก แน่นหน้าอก หายใจติดขัด และหายใจไม่สะดวกร่วมด้วย หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
ลมพิษ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามระยะเวลาและอาการ คือ
ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute Urticaria) เป็นอาการลมพิษที่เกิดขึ้นมาและหายไปอย่างรวดเร็ว มีระยะเวลาของอาการประมาณ 48 ชั่วโมง หรือในรายที่เป็นนานก็จะเป็นต่อเนื่องไปไม่เกิน 6 สัปดาห์
ลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic Urticaria) เป็นอาการลมพิษที่เป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องกันเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป ถึงแม้ว่าอาการลมพิษชนิดนี้ จะไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่สร้างความรำคาญและลำบากในการดำรงชีวิตให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง
มาดูสาเหตุของ ลมพิษกัน
ลมพิษ สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายสัมผัสต่อสารก่อภูมิแพ้ และมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการปล่อยสาร “ฮีสตามีน” (Histamine) และสารอื่น ๆ เข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณมาก หลอดเลือดฝอยจึงขยายตัว ส่งผลให้มีพลาสมาหรือน้ำเลือดซึมออกมาบนชั้นผิวหนัง และกลายเป็นผื่นนูนแดงที่มีอาการคันในที่สุด โดยตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษ คือ
- อาหาร เช่น อาหารจำพวกโปรตีน อาหารทะเล รวมถึงสารปรุงแต่งอาหาร และสารกันบูด
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ฝุ่น ไรฝุ่น ละอองเกสร พืชบางชนิด และขนสัตว์
- ยาปฏิชีวนะ และวิตามินบางชนิด
- แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ผึ้ง แตน ต่อ หมาร่า มดแดงไฟ มดตะนอย
- แสงแดด และอากาศ ทั้งร้อน เย็น และชื้น
- โรคติดเชื้อ มีพยาธิในลำไส้ โดยส่วนมากจะพบในวัยเด็ก
สำหรับผู้ที่มีอาการป่วยไม่ว่าจากภูมิแพ้ผิวหนังหรือลมพิษ การที่จะวินิจฉัยว่าสิ่งใดคือสาเหตุและตัวกระตุ้นเป็นเรื่องยาก จำเป็นต้องเข้ารับการทดสอบโดยแพทย์เฉพาะทาง ด้วยการตรวจเลือด หรือการตรวจหาสาเหตุของอาการแพ้ต่าง ๆ อย่างละเอียด ซึ่งการตรวจสอบจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้ว่าควรหลีกเลี่ยงกับสารหรือตัวกระตุ้นใด เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงที่อาการลมพิษจะกำเริบขึ้นมา
ข้อมูลอ้างอิง
- โรงพยาบาลกรุงเทพ. โรคภูมิแพ้ผิวหนัง. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 จาก https://www.bangkokhospital.com/content/skin-allergies
- โรงพยาบาลพญาไท. โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้หรือโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis). สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 จาก https://www.phyathai.com/article_detail/2831/th/โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้หรือโรคภูมิแพ้ผิวหนัง_(Atopic_dermatitis)
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. ไขข้อสงสัย กับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 จาก https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/october-2021/atopic-dermatitis
- โรงพยาบาลบางปะกอก 9. โรคภูมิแพ้ผิวหนัง. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 จาก https://www.bangpakokhospital.com/care_blog/content/โรคภูมิแพ้ผิวหนัง
- โรงพยาบาลพญาไท. โรค “ลมพิษ” สาเหตุและอาการที่ไม่ควรมองข้าม. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 จาก https://www.phyathai.com/article_detail/3840/th/โรค_“ลมพิษ”_สาเหตุและอาการที่ไม่ควรมองข้าม?branch=PYT3
- ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. โรคลมพิษ. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=23
- โรงพยาบาลกรุงเทพ. ลมพิษเรื้อรัง อย่ามองข้ามจนรุนแรง. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 จาก https://www.bangkokhospital.com/content/should-not-overlook-chronic-urticaria
- โรงพยาบาลวิภาวดี. 'โรคลมพิษ' อันตรายหรือไม่? ชี้ชัดสาเหตุ. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 จาก https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/501
- โรงพยาบาลรามคำแหง. โรคลมพิษ โรคใกล้ตัวที่ไม่ธรรมดา. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 จาก https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1732