ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้

ทราบหรือไม่ว่า สิ่งแวดล้อมที่สวยงามและดูเป็นมิตรอาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงขนฟู สนามหญ้าสีเขียวสดใส หรือแม้กระทั่งใบไม้ที่กำลังร่วงหล่น มาทำความรู้จักกับสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยในชีวิตประจำวันรวมถึงวิธีการรับมือกับโรคภูมิแพ้กันเถอะ….

โรคภูมิแพ้ คืออะไร?
ในสภาวะปกติ ภูมิคุ้นกันของร่างกายมีหน้าที่ตรวจจับสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากพบเจอสิ่งอันตราย ภูมิคุ้มกันจะช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวออกไป แต่ภูมิคุ้มในผู้ป่วยภูมิแพ้นั้นมีการทำงานที่ไวกว่าปกติ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ เชื้อรา ขนสัตว์ เป็นต้น ซึ่งในทางการแพทย์จะเรียกสิ่งแปลกปลอมที่ไม่อันตรายแต่กลับก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ที่กล่าวมานี้ว่า สารก่อภูมิแพ้ (allergen) ซึ่งสารก่อภูมิแพ้นี้มีอยู่หลายชนิดและสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง และจะกระตุ้นให้เกิด “ปฏิกิริยาภูมิแพ้” ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายพยายามต่อสู้เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม

รู้หรือไม่?
ปฏิกิริยาภูมิแพ้นั้นมีหลายขั้นตอน ประกอบด้วยสารสื่อที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบหลายชนิด หนึ่งในสารสื่อสำคัญของปฏิกิริยาภูมิแพ้ คือ ฮิสตามีน (histamine) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการต่างๆ ในผู้ป่วยภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นอาการน้ำมูกไหลและคัดแน่นจมูก คันจมูก และจามเป็นชุด ในกรณีที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ฮิสตามีนนี้ก็จะทำให้เกิดอาการคัน แดง ในผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการแพ้

การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ทำอย่างไร?
สิ่งที่ท้าทายสำหรับการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้นั้นไม่ใช่เพียงการวินิจฉัยจากอาการที่ผู้ป่วยเป็นขณะเกิดอาการแพ้ แต่คือการค้นหาว่าสารก่อภูมิแพ้ที่กระตุ้นภาวะภูมิแพ้ในผู้ป่วยแต่ละรายคืออะไร เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายจะมีสารก่อภูมิแพ้ที่จำเพาะกับตนเองซึ่งแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น นาย ก แพ้ละอองเกสรดอกไม้ ในขณะที่นางสาว ข กลับมีอาการเมื่อสัมผัสกับสุนัข เป็นต้น ดังนั้น การวินิจฉัยโรคนี้โดยทั่วไปจึงประกอบด้วย 2 ส่วน ดังนี้

  • การสังเกตตนเอง: ผู้ป่วยสามารถสังเกตได้ด้วยตนเองว่า สถานที่ กิจกรรม หรือสิ่งใดที่มักเกิดขึ้นก่อนอาการแพ้ในแต่ละครั้ง และหากเป็นสาเหตุเดียวกันทุกครั้ง นั่นหมายความว่า สถานที่ กิจกรรม หรือสิ่งนั้นๆ อาจทำให้เกิดการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ที่จำเพาะเจาะจงกับเราได้ และผู้ป่วยสามารถนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์นี้ไปปรึกษาเพิ่มเติมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป
  • การวินิจฉัยโดยแพทย์: มักประกอบด้วยกระบวนการต่างๆเหล่านี้
    • การสอบถามประวัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัว ประวัติครอบครัว กิจวัตรประจำวัน อาชีพ รวมถึงสุขลักษณะต่างๆ 
    • การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจโพรงจมูก ช่องคอ ตา หู การหายใจ และผิวหนัง ซึ่งมักเป็นระบบของอวัยวะที่เกี่ยวข้องในโรคภูมิแพ้
    • ในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ด้วยการตรวจทางผิวหนังด้วยวิธี skin test หรือ patch test หรือการตรวจเลือดเพื่อค้นหาสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะในรายที่อาการแพ้รบกวนคุณภาพชีวิตมากแต่ไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นสารก่อภูมิแพ้ชนิดใด 

เกร็ดความรู้
ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เป็นภูมิภาคที่พบอัตราการป่วยด้วยโรคภูมิแพ้มากที่สุดในโลก

ความสำคัญของการลดการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
สิ่งสำคัญที่จะช่วยควบคุมอาการภูมิแพ้ไม่ให้กำเริบ คือ การลดการสัมผัสกับการก่อภูมิแพ้ ซึ่งโดยทั่วไปเราจะแบ่งสารก่อภูมิแพ้ออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • สารก่อภูมิแพ้ในที่โล่งแจ้ง (outdoor allergen) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สารก่อภูมิแพ้ตามฤดูกาล (seasonal allergen) เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้กลุ่มนี้จะมีปริมาณที่ไม่เท่ากันในแต่ละฤดูกาล เช่น สปอร์ของเชื้อราและต้นไม้บางชนิด ละอองหญ้า ละอองเกสรดอกไม้ ที่มีปริมาณเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ผู้ป่วยที่แพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้กลุ่มนี้จึงมักมีอาการกำเริบในฤดูที่มีปริมาณสารก่อภูมิแพ้มากนั่นเอง
  • สารก่อภูมิแพ้ในอาคาร (indoor allergen) เช่น ไรฝุ่น เชื้อรา และขนสัตว์ สารก่อภูมิแพ้กลุ่มนี้สามารถพบได้ทั่วไปตลอดทั้งปี ค่อนข้างยากต่อการหลีกเลี่ยงเมื่อเปรียบเทียบกับสารก่อภูมิแพ้ตามฤดูกาล

ในทางปฏิบัติ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้นั้นทำได้ไม่ง่ายนัก อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมอาการภูมิแพ้ และหากเกิดอาการของโรคภูมิแพ้ขึ้นแล้ว การรับประทานยาต้านฮิสตามีน จะช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำกิจวัตรต่างๆได้ตามปกติ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้รวมถึงแนวทางการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้