สารก่อภูมิแพ้ในที่โล่งแจ้ง ภูมิแพ้เกสรดอกไม้

มาทำความรู้จักกับสารก่อภูมิแพ้ในที่โล่งแจ้ง หรือ Outdoor Allergen ชนิดที่พบได้บ่อยและช่วงเวลาที่มักพบได้ เพื่อให้คุณวางแผนรับมือและหลีกเลี่ยงได้อย่างเหมาะสม  

สารก่อภูมิแพ้ในที่โล่งแจ้งพบได้ในสิ่งแวดล้อมทั่ว ๆ ไป เช่น ละอองในอากาศ บนพื้นดิน ต้นหญ้า และบริเวณอื่น ๆ ซึ่งมีปริมาณที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สารก่อภูมิแพ้ตามฤดูกาล (Seasonal Allergen) ที่พบบ่อย ได้แก่ สปอร์ของเชื้อรา สปอร์ของพืช ละอองหญ้า ละอองเกสรดอกไม้

นอกจากนี้ สภาพอากาศในแต่ละพื้นที่หรือในแต่ละวัน ยังส่งผลต่อปริมาณของสปอร์และละอองต่าง ๆ มาทำความรู้จักกับสารก่อภูมิแพ้ในที่โล่งแจ้งเพิ่มเติมและรับรู้แนวทางง่าย ๆ ในการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ดังนี้

สารก่อภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ (Pollen Allergens)

หนึ่งในสารก่อภูมิแพ้ตามฤดูกาลที่พบบ่อยที่สุด คือ ละอองเกสรดอกไม้ เป็นเพราะว่าพวกมันมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และแห้ง จึงสามารถลอยไปมาตามกระแสลมได้ และด้วยปริมาณของละอองเกสรดอกไม้ที่จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล โดยบางชนิดเริ่มออกดอกและกระจายเกสรตั้งแต่ฤดูร้อน นอกจากนี้ปริมาณของละอองเกสรยังมีความแตกต่างกันในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ความแรงของลม

จากการศึกษาพบว่า ฤดูฝนที่มีฝนตกหนักและสภาพอากาศชื้นทำให้เหล่าละอองเกสรดอกไม้มีการปลดปล่อยสารก่อภูมิแพ้ออกมามากที่สุด ในขณะที่การกระจายของละอองเกสรจะมากที่สุดในช่วงฤดูที่มีอากาศแห้งและลมพัดแรง นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้เกสรดอกไม้จึงมักมีอาการกำเริบ เช่น ตาแดง คันตา เคืองตา จมูกอักเสบ มีน้ำมูกใส ๆ รวมถึงผิวหนังมีผื่นคัน ผื่นลมพิษ เป็นต้น

ซึ่งในช่วงฤดูที่มีอากาศแห้ง ลมพัดแรง รวมถึงคนที่อาการกำเริบแทบจะทุกครั้งก่อนฝนตก และเมื่อหมดฤดูนี้ไปอาการของโรคภูมิแพ้ก็จะบรรเทาลงจนอาจหายไปได้เอง และวนกลับมากำเริบอีกครั้งในช่วงเวลาเดียวกันของปีถัดไป

ประเทศไทยอยู่ในเขตอากาศแบบร้อนชื้น มีเพียง 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว รูปแบบการกระจายของละอองเกสรดอกไม้จึงแตกต่างจากกลุ่มประเทศในเขตอากาศอบอุ่นที่มี 4 ฤดู จากการศึกษาพบว่า มีการกระจายของละอองเกสรดอกไม้และละอองหญ้าในปริมาณมากตลอดทั้งปี แต่จะพบปริมาณละอองมากที่สุดในเดือนกันยายน ชนิดของละอองที่พบมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ 

  • ละอองหญ้า ชนิดที่พบบ่อยได้แก่ หญ้าแพรก หญ้า Bermuda 
  • ละอองของพืชวงศ์กก 
  • ละอองเกสรของพืชวงศ์ผักโขม 
  • สปอร์ของเฟิร์น 

เคล็ด (ไม่) ลับสำหรับผู้แพ้เพื่อเอาชนะสารก่อภูมิแพ้กลุ่มละอองเกสรและสปอร์ของพืช

สำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้เกสรดอกไม้ แพ้หญ้า และสปอร์ของพืช ที่มีอาการผิวหนังเป็นผื่นคัน มีอาการตาแดง เคืองตา หรือมีน้ำมูกใส ๆ รวมถึงมีอาการน้ำมูกไหล สามารถรักษาอาการภูมิแพ้ละอองเกสรและสปอร์ของพืช ด้วยวิธีการดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งในช่วงเวลาที่มีการกระจายของละอองเกสรและสปอร์ปริมาณมาก
  • ควรแต่งกายมิดชิด โดยเฉพาะการสวมหน้ากากหรือผ้าปิดจมูกหากต้องทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง
  • ควรทำความสะอาดร่างกายและเสื้อผ้าทันทีหลังกลับเข้าที่พักอาศัยเพื่อลดปริมาณและการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น อาบน้ำ สระผม รวมถึงเช็ดทำความสะอาดรองเท้าหรือพื้นผิวอื่น ๆ เป็นต้น 
  • ลดการสัมผัสกับอากาศภายนอก เช่น ปิดหน้าต่างและประตูให้สนิท เปิดเครื่องปรับอากาศ รวมถึงเปิดเครื่องฟอกอากาศ (ถ้ามี) ปิดกระจกเสมอในขณะขับรถ รวมถึงตั้งระบบอากาศภายในเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารก่อภูมิแพ้ในอากาศเข้ามาสู่อากาศภายในตัวรถ
  • หลีกเลี่ยงการปลูกพืชหรือหญ้าที่มักเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ เช่น หญ้าแพรก พืชวงศ์กก หรือพืชชนิดอื่นที่เป็นสาเหตุของอาการภูมิแพ้

สารก่อภูมิแพ้กลุ่มละอองเชื้อรา (Mold Allergens)

เมื่อพูดถึง เชื้อรา หลายท่านอาจนึกถึงเชื้อราที่อยู่พื้นผิวและส่วนต่าง ๆ ภายในบ้าน แท้จริงแล้ว สปอร์ของเชื้อรานั้นล่องลอยไปมาตามกระแสลมเช่นเดียวกับละอองเกสรดอกไม้ นอกจากนี้ยังพบสปอร์ของเชื้อราตามพื้นผิวอื่น ๆ เช่น บนพื้นดิน ต้นพืช ไม้ที่ผุพัง หรือแม้แต่ใบไม้แห้ง ดังนั้น สปอร์ของเชื้อราจึงเป็นหนึ่งในสารก่อภูมิแพ้ในที่โล่งแจ้งที่สำคัญ และมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเลยที่มีอาการภูมิแพ้กำเริบได้จากสปอร์ของเชื้อราเหล่านี้

เชื้อรานั้นเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง ดังนั้น ในประเทศไทยซึ่งมีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นจึงพบปริมาณของสปอร์เชื้อราได้ค่อนข้างสูงตลอดทั้งปี โดยเฉพาะปลายฤดูร้อนจนถึงฤดูฝน ผู้ที่ไวต่อสปอร์ของเชื้อราจึงมีโอกาสเกิดอาการภูมิแพ้กำเริบในช่วงเวลาดังกล่าวได้มากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ

เคล็ด (ไม่) ลับสำหรับผู้แพ้เพื่อเอาชนะสารก่อภูมิแพ้กลุ่มสปอร์เชื้อรา

หลักการคล้ายกันกับการหลีกเลี่ยงละอองเกสรดอกไม้ กล่าวคือ ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสทุกครั้งหลังกลับจากพื้นที่โล่งแจ้ง เช่น อาบน้ำ สระผมทันที ทำความสะอาดรองเท้า และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่อาจสัมผัสกับเชื้อราในอากาศก่อนนำเข้าที่พักอาศัย กำจัดใบไม้แห้งเนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา หากมีกิจกรรมในสวน ควรสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย (ถ้ามี) เพื่อป้องกันไม่ให้สปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ

References:
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1262
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=198