เปลี่ยนบ้านให้ปลอดเชื้อรา ต้นตอของปัญหาโรคภูมิแพ้จากเชื้อรา

รู้ไหมว่าคราบเชื้อราที่ขึ้นตามผนังบ้าน ผนังห้อง วอลล์เปเปอร์ หรือพื้นในบริเวณบ้าน ไม่เพียงแค่ทำให้บ้านดูสกปรก เห็นแล้วหงุดหงิดสายตา หรือว่าแลดูไม่สวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้จากเชื้อรา และส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนในครอบครัวของเราเป็นอย่างยิ่ง ถึงเวลาแล้วที่ต้องดูแลบ้านของเราให้สะอาด กำจัดเชื้อรา และสาเหตุของการเกิดเชื้อราให้หมดไป หากสงสัยว่าเชื้อราในบ้านเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะจัดการอย่างไรกับเชื้อราได้บ้าง ตามไปอ่านกันในบทความนี้เลย

เชื้อราในบ้านคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เชื้อราที่เราเห็นกันนั้น ที่จริงแล้วเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก หรือ จุลินทรีย์ จัดอยู่ในจำพวกเดียวกับเห็ดราและยีสต์ โดยวงจรการเจริญเติบโตของเชื้อราเริ่มต้นจากการเป็นสปอร์ขนาดเล็ก มีขนาดเพียงแค่ 2-5 ไมครอน ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ปลิวไปได้ไกลและลอยฟุ้งปะปนอยู่ในอากาศ หากสปอร์ของเชื้อราไปตกลงบนที่มีสภาวะเหมาะสม เช่น ในพื้นที่อับชื้น มืด มีออกซิเจน มีอุณหภูมิปานกลางไม่ร้อนหรือไม่เย็นเกินไป และที่สำคัญคือมีอาหาร ได้แก่ เศษซากสิ่งมีชีวิตและอินทรียวัตถุ เชื้อราจะเจริญเติบโต และรวมกันเป็นกลุ่มก้อนฟู ๆ จนมองเห็นได้ง่าย ซึ่งเชื้อราที่เติบโตเต็มที่จะขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก โดยเชื้อราที่พบได้บ่อยในบ้านของเรา คือ

  • Penicillium เชื้อราสีเขียว มักพบในบริเวณที่มีอาหารเน่าเสีย หรืออาหารหมดอายุ เช่น ขนมปัง ชีส เศษใบไม้ กิ่งไม้ หรือสิ่งสกปรก
  • Aspergillus เชื้อราสีดำ มักพบในอาหารบูด เศษอาหารตกค้าง หรืออยู่ค้างคืน
  • Cladosporium เชื้อราที่มักพบบริเวณนอกบ้าน ตามพื้น ตามผนัง และสามารถพบได้บริเวณที่อับชื้นในบ้านเช่นกัน  
  • Alternaria เชื้อราที่มักพบตามพื้นดิน ต้นไม้ ใบไม้แห้งที่ทับถมหมักหมมกัน

สาเหตุของการเกิดเชื้อราในบ้าน คือ บริเวณนั้นเป็นจุดที่มีความชื้นสะสมเป็นระยะเวลานาน เช่น ผนังห้องน้ำ ห้องซักล้าง ขอบประตู ขอบหน้าต่าง หรือเป็นบริเวณที่มีน้ำรั่วซึม ไม่ว่าจะเป็นหลังคาหรือท่อน้ำที่เดินระบบซ่อนไว้ตามผนังบ้าน ซึ่งหากปล่อยไว้นานเชื้อราจะขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว และจะกำจัดออกยากมาก โดยเชื้อราที่สะสมอยู่ในบ้านนี่เองที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้จากเชื้อรา

มาทำความรู้จัก โรคภูมิแพ้จากเชื้อรากัน

โรคภูมิแพ้จากเชื้อรา เกิดจากผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้ สูดสปอร์ของเชื้อราที่ปะปนอยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกาย สปอร์ของเชื้อราจะไปกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองด้วยการผลิตสารที่เรียกว่าฮิสตามีน ออกมาเป็นจำนวนมาก จนก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ไอ คันตา คัดจมูก มีน้ำมูกไหล หรือมีอาการปวดศีรษะ ที่ทำให้รู้สึกทรมาน ในผู้ป่วยบางรายนั้น ภาวะแพ้เชื้อราสัมพันธ์กับหอบหืด (Asthma) และมีโอกาสเป็นโรคปอดอักเสบจากภูมิแพ้ (Hypersensitivity Pneumonitis) ได้อีกด้วย

อาการของโรคภูมิแพ้จากเชื้อราจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยมีอาการตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงมาก และอาการของโรคมักเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี แต่มักมีความรุนแรงและกำเริบหนักขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวที่อากาศมีความชื้นและเย็น โดยผู้เป็นโรคภูมิแพ้จากเชื้อราต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเองว่ามักเป็นช่วงไหน อยู่บริเวณพื้นที่ภายในหรือภายนอกบ้าน เพื่อจะได้หาทางป้องกันตนเอง และลดความเสี่ยงจากการไปสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ 

โรคภูมิแพ้จากเชื้อราป้องกันได้ด้วยการทำความสะอาดบ้าน


อยากกำจัดเชื้อราให้หมดจากบ้าน ต้องทำอย่างไร?

ถึงเวลาจำกัดเชื้อราที่เป็นต้นเหตุของโรคภูมิแพ้จากเชื้อราออกจากบ้านของเราแล้ว วิธีการดูแลบ้านให้ห่างใกล้จากเชื้อราไม่ใช่เรื่องยาก เชื่อว่าทุกคนสามารถทำตามได้ ดังต่อไปนี้

  1. ไม่ควรปลูกต้นไม้ใหญ่ใบหนาทึบไว้ใกล้ตัวบ้าน เพราะจะบดบังแสงแดด และทำให้อากาศไม่ถ่ายเท ให้แสงสว่างสามารถส่องเข้าถึงตัวบ้าน เพื่อลดความอับชื้นในบ้าน เชื้อราจะได้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ 
  2. เก็บใบไม้ กิ่งไม้ ที่ร่วงทับถมบริเวณบ้าน และเศษหญ้าชื้นแฉะในสนามออกให้หมด เพื่อลดแหล่งแพร่พันธุ์ของเชื้อรา
  3. หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความชื้นแฉะอยู่เสมอ โดยเฉพาะบริเวณกระเบื้องปูพื้นและผนัง รวมไปถึงม่านพลาสติก และอย่าลืมสังเกตและทำความสะอาดบริเวณใต้อ่างล้างมือ โอ่งน้ำ โถส้วม และตามซอกมุมต่าง ๆ เพราะเป็นบริเวณที่มักมีเชื้อราเช่นกัน ที่สำคัญคือต้องเปิดให้แสงแดดสามารถส่องเข้ามาในห้องน้ำมากที่สุด เพื่อให้ห้องน้ำแห้ง และช่วยลดความอับชื้นได้
  4. หมั่นตรวจตราบริเวณห้องครัว ตู้เก็บอาหาร และตู้เย็นอยู่เสมอ เพื่อให้ไม่มีอาหารตกค้าง หมดอายุ หรือเน่าเสีย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารอย่างดีของเชื้อรา
  5. ควรตากเสื้อผ้า รองเท้า ข้าวของเครื่องใช้ให้แห้งสนิทก่อนเก็บเข้าบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อรา
  6. หมั่นตรวจตราห้องใต้หลังคา ห้องใต้ดิน หรือห้องที่ปิดทึบ และเปิดให้มีอากาศถ่ายเท หรือแสงแดดส่องถึงบ้างในบางครั้ง เพื่อไม่ให้บริเวณนั้นกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา
  7. ใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ เพื่อช่วยกรองสปอร์ของเชื้อราในอากาศได้บ้าง และควรทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ
  8. ใช้พัดลมดูดอากาศในห้องที่มีความชื้นมาก เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว เพื่อช่วยลดความชื้น
  9. ใช้น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน ผสมกับน้ำเปล่า 9 ส่วน ฉีดลงบนบริเวณเชื้อราและใช้แปรงขัดออก โดยขณะทำให้ใส่ถุงมือ หน้ากากปิดจมูกและปาก สวมรองเท้าบูต และไม่ควรให้เด็กหรือผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จากเชื้อราทำ เพราะอาการจะกำเริบได้ 

สำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จากเชื้อรา ถ้าหากมีอาการแพ้สามารถรับประทานยาแก้แพ้หรือต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เช่น ลอราทาดีน เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันจมูก คันตา น้ำมูกไหล ไอ จาม จากอาการแพ้อื่น ๆ ให้ดีขึ้นได้

จบไปแล้วกับวิธีดูแลบ้านอย่างไรให้ปลอดเชื้อรา และอย่าลืมว่าบ้านไม่ใช่เพียงแค่ที่พักอาศัย แต่ยังเป็นแหล่งรวมความรักและความสุขของทุกคนในบ้าน เราจึงควรช่วยกันทำบ้านของเราให้สะอาด น่าอยู่ และไม่เป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยและโรคภัยของคนในครอบครัว 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Hello คุณหมอ. ภูมิแพ้เชื้อรา (Mold allergy). สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 จาก  https://hellokhunmor.com/โรคภูมิแพ้/ภูมิแพ้แบบอื่น/ภูมิแพ้เชื้อรา/
  2. Kanitta Sasakul. ภูมิแพ้เชื้อรา เราคุมและหลีกเลี่ยงมันได้. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 จาก https://ipricethailand.com/เทรนด/ไลฟสไตล/ภมแพเชอรา-เราคมและหลกเลยงมนได/
  3. ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ให้สัมภาษณ์ใน MRG Online. “โรคภูมิแพ้จากเชื้อรา” ภัยที่มาพร้อมกับฤดูฝน. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 จาก  https://mgronline.com/qol/detail/9480000104220
  4. Siamhealth. การป้องกันภูมิแพ้จากเชื้อรา. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 จาก https://siamhealth.net/public_html/Disease/allergy/mold.htm
  5. อ.นพ.มงคล สมพรรัตนพันธ์ สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. เชื้อราและโรคภูมิแพ้. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 จาก https://www.thaimmf.net/articles-people/เชื้อราและโรคภูมิแพ้/
  6. Minnie C.. ภูมิแพ้เชื้อรา เราคุมและหลีกเลี่ยงมันได้. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 จาก https://story.motherhood.co.th/ภูมิแพ้เชื้อรา/