ต้องทำอย่างไร? แพ้ละอองเกสร แต่อยากออกไปทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการได้ออกไปอยู่กลางแจ้ง ได้เริงร่าท้าสายลมและแสงแดด สัมผัสธรรมชาติ ชื่นชมดอกไม้บานสะพรั่งหลากสีสัน แต่จะทำอย่างไร หากร่างกายไม่เป็นใจ ออกไปข้างนอกครั้งใด ก็ต้องกลับมาบ้านด้วยอาการป่วย น้ำมูกไหล จาม หรือผื่นคัน เพราะแพ้ละอองเกสรดอกไม้หรือพืชบางชนิด เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับอาการภูมิแพ้ละอองเกสรให้ดีขึ้น พร้อมมีวิธีดูแลตัวเองของคนเป็นภูมิแพ้ละอองเกสรมาแนะนำตามไปอ่านกันได้เลย

พาไปทำความรู้จัก อาการภูมิแพ้ละอองเกสร สาเหตุเกิดจากอะไร?

เกสร คือ ส่วนในของดอกไม้และของพืช ส่วนมากจะมีลักษณะเป็นเส้น ๆ หรือเป็นผงสีเหลืองติดอยู่กับก้านเกสร หรือเมล็ด เมื่อถูกลมพัดก็จะเกิดการฟุ้งกระจาย กลายเป็นละอองเกสร โดยละอองเกสรจะมีอนุภาคขนาดเล็กทำให้สามารถปลิวไปได้ไกลหลายกิโลเมตร และลอยปะปนอยู่ในอากาศ ดังนั้นเวลาที่เราอยู่กลางแจ้งจึงมีโอกาสสูงมากที่จะสัมผัสหรือสูดละอองเกสรเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

เมื่อคนที่มีอาการแพ้ละอองเกสรสูดเอาอากาศที่ปนละอองเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกาย หรือไปสัมผัสโดนละอองเกสรในอากาศ จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อละอองเกสรดอกไม้หรือจากพืชได้ไวกว่าปกติ ร่างกายสร้างปฏิกิริยาโดยการผลิตสารที่เรียกว่าฮิสตามีน ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เช่น จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล มีอาการความดันขึ้นที่ไซนัส ซึ่งอาจทำให้ปวดบริเวณใบหน้า การรับรสหรือกลิ่นลดลง น้ำตาไหล คันตา คันคอ ตาแดง รอบดวงตาบวม ไอ หรือหายใจมีเสียงหวีด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคหืดอยู่ก่อนแล้วอาจมีอาการแย่ลงได้ 

อาการแพ้ละอองเกสร ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิต ยิ่งกับคนที่ชอบใช้ชีวิตกลางแจ้งด้วยแล้ว เพราะอาการภูมิแพ้ทำให้สมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดน้อยลง ความจำแย่ลง รู้สึกหงุดหงิดง่ายขึ้น บางครั้งเมื่ออาการกำเริบ จะส่งผลให้นอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้าจึงรู้สึกไม่สดชื่น หรือหากมีอาการกำเริบในที่ทำงาน ก็ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ยิ่งถ้าผู้ป่วยอยู่ในวัยเด็ก จะทำให้พัฒนาการด้านต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง เพราะเด็กไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ หรือออกไปวิ่งเล่นข้างนอกบ่อย ๆ ได้ 

อาการแพ้ละอองเกสร ส่วนมากสามารถเกิดขึ้นได้ตามฤดูกาลและอยู่ได้นานหลายเดือน ขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค และช่วงเวลาของการออกดอกและแพร่พันธุ์ของดอกไม้และพืชในพื้นที่นั้น ๆ โดยผู้ที่มีอาการแพ้ละอองเกสรควรต้องหมั่นสังเกตตนเองว่ามักมีอาการช่วงไหนของปี เพื่อที่จะได้ระมัดระวัง และป้องกันตนเองเวลาออกไปข้าง และเพื่อหาทางรักษาได้อย่างถูกต้อง

ภูมิแพ้ละอองเกสรป้องกันได้แม้อยู่กลางแจ้ง


แนะนำวิธีเอาตัวรอดของคนเป็นภูมิแพ้ละอองเกสร

แพ้ละอองเกสร แต่ชอบอยู่นอกบ้าน ต้องทำอย่างไร?

สำหรับคนที่มีอาการแพ้ละอองเกสร แต่ชอบใช้ชีวิตและกิจกรรมการแจ้ง หรือแม้แต่คนที่จำเป็นต้องออกไปข้างนอก แต่ไม่อยากให้อาการภูมิแพ้กำเริบ เรามีวิธีดูแลและป้องกันตนเองมาลองนำไปใช้กัน

  • ปกป้องตนเองจากการรับละอองเกสรเข้าสู่ร่างกาย ด้วยการสวมเสื้อผ้ามิดชิด สวมแว่นตากันแดด หน้ากากอนามัย รวมไปถึงการสวมหมวก สำหรับคนที่ผมยาวแนะนำให้รวบผมให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ละอองเกสรติดตามเส้นผม
  • เมื่ออยู่กลางแจ้ง หรือบริเวณด้านนอกที่พักอาศัย ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า และขยี้ตา เพราะละอองเกสรอาจปลิวมาติดอยู่ที่มือของเราได้ และควรหมั่นล้างมือให้สะอาด เพื่อขจัดละอองเกสรอีกด้วย
  • เมื่อกลับเข้าบ้าน ควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม และทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อกำจัดละอองหญ้า ละอองเกสรดอกไม้ ที่เป็นสาเหตุของภูมิแพ้ตามเสื้อผ้าและตามตัวออก
  • หมั่นล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ โดยสามารถล้างเป็นประจำทุกวันเลยก็ได้เช่นกัน เพื่อขจัดละอองเกสรที่ติดค้างอยู่ในจมูกของเราออก

อยู่ในบ้าน ก็ป้องกันอาการแพ้ละอองเกสรได้เช่นกัน

ในวันที่เราไม่ได้ออกจากบ้าน ละอองเกสรดอกไม้ก็สามารถลอยลมเข้ามาทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยเราสามารถป้องกันได้ ดังนี้

  • ปิดประตูบ้านและหน้าต่างให้มิดชิดในช่วงที่มีละอองเกสรฟุ้งกระจายอยู่เยอะในอากาศ
  • ไม่ควรตากผ้ากลางแจ้ง เพราะเสี่ยงที่จะมีละอองเกสรลอยมาติดตามเสื้อผ้า หรือข้าวของที่เรานำออกไปซักตากได้ แนะนำให้เปลี่ยนมาใช้เครื่องอบผ้าช่วยให้ผ้าแห้งทดแทนการตากแดด
  • หมั่นตัดหญ้าและกำจัดวัชพืชบริเวณบ้านอยู่เสมอ เพื่อลดจำนวนละอองเกสร ที่จะก่อให้เกิดอาการแพ้ แต่ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ไม่ควรทำเอง ควรขอให้คนในครอบครัว หรือจ้างคนงานมาช่วยทำแทน
  • ใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ เพื่อช่วยป้องกันร่างกายจากสารก่อภูมิแพ้

ภูมิแพ้ละอองเกสร มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง?

1. ใช้ยารักษา โดยส่วนใหญ่จะใช้ยา ใน 2 ชนิด คือ 

  • ยาแก้แพ้หรือต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เช่น ลอราทาดีน สามารถออกฤทธิ์ยาวนาน 24 ชั่วโมง ช่วยบรรเทาอาการคันจมูก คันตา น้ำมูกไหล ไอ จาม จากอาการแพ้จะค่อย ๆ ดีขึ้น และไม่ทำให้ง่วงซึม 
  • ยาสเตอรอยด์พ่นจมูก (intranasal steroids) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ชนิดคงที่ หรืออาการปานกลางถึงรุนแรง แต่ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

2. ฉีดวัคซีนภูมิแพ้

การรักษาด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ คือ การฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งก่อนจะฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายได้นั้น ต้องมีการทดสอบให้แน่ใจก่อน เช่น ผู้ที่มีอาการแพ้ละอองเกสร ก็ต้องทดสอบให้แน่ใจก่อนว่าเป็นละอองเกสรของดอกไม้หรือพืชชนิดใด แล้วจึงทำการรักษาด้วยการค่อย ๆ ฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย เพื่อสร้างภูมิต่อต้านสิ่งที่แพ้ เหมาะสำหรับคนที่มีอาการแพ้มาก ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยา

สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลและป้องกันตนเองจากอาการภูมิแพ้ คือ การมีร่างกายที่แข็งแรง ดังนั้นเราจึงควรหาเวลาออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายพร้อมสู้กับสารก่อภูมิแพ้ในทุกรูปแบบ

ข้อมูลอ้างอิง

  1. พบแพทย์. เมื่อแพ้เกสรดอกไม้ ดูแลตัวเองอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 จาก https://www.pobpad.com/เมื่อแพ้เกสรดอกไม้-ดูแล#:~:text=แพ้เกสรดอกไม้%20
  2. ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. สาเหตุของโรคแพ้อากาศ ตอนที่ 2. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=198
  3. Hello คุณหมอ. ภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ อันตรายจากดอกไม้ที่คนเป็นภูมิแพ้ต้องระวัง . สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 จาก https://hellokhunmor.com/โรคภูมิแพ้/ภูมิแพ้จมูกและตา/ภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้/
  4. Sabia Stefania. 8 วิธีเอาตัวรอดในช่วง “คะฟุงโช” (โรคแพ้เสกรดอกไม้) ของญี่ปุ่น . สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 จาก https://www.tsunagulocal.com/th/93646/
  5. ชีวิตดีดี Ged Good Life. “ภูมิแพ้เกสรดอกไม้” สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 จาก https://www.gedgoodlife.com/allergy/14954-pollen-allergy/
  6. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์. วัคซีนภูมิแพ้ ทางเลือกของโรคภูมิแพ้. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 จาก https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/457