ชวนไปรู้จักภูมิแพ้ที่เกิดจากไรฝุ่น และเทคนิคจัดบ้านให้ไร้ไรฝุ่น

“ไรฝุ่น” สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และมีผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย รู้ไหมว่า 20% ของผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ มีไรฝุ่นเป็นสารก่อโรคที่ช่วยกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้กำเริบได้ ถึงแม้โรคภูมิแพ้ที่เกิดจากฝุ่นจะไม่ใช่โรครุนแรง แต่รักษาให้หายขาดได้ยาก ยิ่งในช่วงที่มีอาการภูมิแพ้จะส่งผลกระทบการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก     

หากคุณกำลังเป็นกังวลว่าลูกน้อยของคุณหรือคนในครอบครัวกำลังเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ อาจมีอาการแพ้ที่เกิดจากไรฝุ่น เพราะมักเห็นคนที่คุณรักมีอาการ จาม น้ำมูกไหล หรือว่าผื่นคันอยู่เสมอ บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักถึงอันตรายของไรฝุ่นที่แฝงตัวอยู่ในบ้านของคุณให้มากขึ้น และขอแนะนำเทคนิคจัดและทำความสะอาดบ้านอย่างไรให้ห่างไกลจากการแพ้ไรฝุ่น เพื่อปกป้องคนที่คุณรักต่อไป

ไรฝุ่นคืออะไร? แฝงตัวอยู่ตรงไหนของบ้าน

ไรฝุ่น เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก มีความยาวเพียง 0.3 มิลลิเมตร จึงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มี 8 ขา แฝงตัวอยู่ตามใยผ้า คอยกินเศษผิวหนัง รังแคเป็นอาหาร แล้วถ่ายมูลออกมาปะปนอยู่รอบ ๆ บริเวณที่มันอาศัยอยู่

ไรฝุ่นอยู่อาศัยได้ในทุกสภาพอากาศ แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส และชอบอากาศอุ่นชื้น มักพบได้มากบริเวณพรม ผ้าม่าน ตุ๊กตาที่มีขน รวมไปถึงโซฟาที่เป็นผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นอน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของไรฝุ่น เพราะมีความชื้นจากร่างกายออกมาในเวลานอนนั่นเอง

ภูมิแพ้ที่เกิดจากไรฝุ่น คืออะไร?

ภูมิแพ้ไรฝุ่น เกิดจากการที่ร่างกายได้รับไรฝุ่น หรือมูลของไรฝุ่น ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ เข้าไปผ่านระบบทางเดินหายใจหรือจากการสัมผัส แล้วไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านอาการแพ้นั้นขึ้นมา ซึ่งอาการแพ้ไรฝุ่นมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น ภูมิแพ้ขึ้นตา ภูมิแพ้จมูก หรือภูมิแพ้อากาศ โดยคนที่แพ้จะมีอาการ เช่น คันหรือคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล คันตา แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล คันคอ ไอ คันผิว และเป็นผื่น

หากมีการสัมผัสไรฝุ่นติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ ซึ่งเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อในโพรงจมูก รวมไปถึงอาการเยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลาย หรือส่งผลให้อาการของโรคหืดรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย

จัดห้องนอนให้สะอาดปราศจากไรฝุ่น


วิธีการป้องกันโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น

การลดความเสี่ยงและปกป้องทุกคนในครอบครัวให้ปลอดภัยจากอาการแพ้ไรฝุ่น สามารถทำได้ด้วยการลดโอกาสในการสัมผัสกับไรฝุ่น ด้วยการทำความสะอาดบ้าน และทำความสะอาดแหล่งอันเป็นที่อยู่ของไรฝุ่น ซึ่งมีวิธีในการจัดบ้านให้ห่างไกลจากไรฝุ่น ดังนี้

มีของตกแต่งน้อยชิ้น ไม่นำของมาไว้ในห้องมากเกินไป

เลือกใช้ของตกแต่งห้องแต่ละห้องให้เพียงพอต่อความจำเป็น เพราะการนำทุกอย่างไปไว้รวมกันในห้อง นอกจากจะทำให้ห้องรกแล้ว ยังกลายเป็นแหล่งสะสมชั้นดีของฝุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งของตกแต่งที่ทำจากผ้าหรือใยผ้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยอย่างดีของไรฝุ่น ควรมีอย่างพอเหมาะ และสามารถทำความสะอาดได้อย่างทั่วถึง

เลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมในการปูพื้นห้อง ปูที่นอน สวมปลอกหมอน

หนึ่งในวิธีสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงการเป็นภูมิแพ้ไรฝุ่น คือ หลีกเลี่ยงการใช้พรมในการปูพื้นห้อง เพราะเป็นแหล่งสะสมของไรฝุ่น รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าสักหลาด หรือผ้าขนสัตว์ เพราะวัสดุที่อมฝุ่น และมีไรฝุ่นแฝงตัวอยู่ได้ง่าย ควรเลือกใช้ผ้าปูที่นอนหรือปลอกหมอนที่ทำจากผ้าซาตินหรือผ้าคอตตอน เพื่อช่วยลดการสะสมของไรฝุ่น และดูแลทำความสะอาดได้ง่ายกว่า

ล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ

เครื่องปรับอากาศมีแผ่นใยกรองอากาศ รวมถึงอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของไรฝุ่น จึงควรให้ช่างมาทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศในบ้านอย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน และสามารถล้างได้ถี่มากขึ้น หากบ้านอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่นละอองมาก หรืออยู่ติดถนน

หมั่นซักผ้าม่าน ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน

ในแต่ละวันเราใช้เวลาอยู่บนที่นอนนาน 6-10 ชั่วโมง ที่นอนจึงต้องเป็นพื้นที่ที่สะอาดและปลอดภัยจากไรฝุ่นมากที่สุด จึงควรเลือกใช้ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนกันไรฝุ่น และเพื่อลดโอกาสในการสะสมของไรฝุ่น จึงควรนำเครื่องนอนต่าง ๆ ออกผึ่งแดดอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง และซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่มในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 55-60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ไม่สะสมของที่เก็บฝุ่น

ไม่ควรนำตุ๊กตา หมอน หรือของสะสมที่เป็นขนสัตว์ ใยผ้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของไรฝุ่นไว้บนที่นอน ควรเลือกตุ๊กตาหรือหมอนที่สามารถทำความสะอาดได้บ่อย ๆ เพื่อลดการสะสมของไรฝุ่น

จัดพื้นที่สัตว์เลี้ยง ไม่นำเข้าห้องนอน

ควรหลีกเลี่ยงการนำสัตว์เลี้ยงมาไว้ในห้องนอน เพราะขนของสัตว์เลี้ยงที่ร่วงหล่นจะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของไรฝุ่นได้ และควรจัดพื้นที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์ไว้ให้เป็นสัดส่วน รวมถึงควรทำความสะอาดพื้นที่เลี้ยงสัตว์เป็นประจำ เพื่อลดปริมาณไรฝุ่นอีกด้วย

สำหรับผู้ที่เกิดอาการแพ้ไรฝุ่นสามารถซื้อยาตามใบสั่งแพทย์ หรือตามคำแนะนำของเภสัชกร ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาเม็ด เช่น ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ยาลอราทาดีน (Loratadine) หรือยาเซทิริซีน (Cetirizine) ซึ่งเป็นยาน้ำสำหรับเด็ก รวมถึงยาพ่นจมูก เช่น ยาอะเซลาสทีน (Azelastine) หรือยาโอโลพาทาดีน (Olopatadine) เพื่อบรรเทาอาการจาม น้ำมูกไหล หรืออาการคันตามเนื้อตัวได้

เพียงวิธีง่าย ๆ อย่างที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็สามารถช่วยลดปริมาณไรฝุ่นในบ้านของคุณ และช่วยลดความเสี่ยงจากอันตรายของไรฝุ่น เพื่อให้คนที่คุณรักปลอดภัยจากโรคภูมิแพ้ไรฝุ่นนั่นเอง

ข้อมูลอ้างอิง

  1. โรงพยาบาลพญาไท. “ไรฝุ่น” วายร้ายตัวจ้อย ที่หลายคนมองข้าม. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.phyathai.com/article_detail/2340/th/“ไรฝุ่น”_วายร้ายตัวจ้อย_ที่หลายคนมองข้าม
  2. พบแพทย์. ไรฝุ่น กำจัดอย่างไรให้ไกลจากภูมิแพ้ ?. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.pobpad.com/ไรฝุ่น-กำจัดอย่างไรให้ไ
  3. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. ไรฝุ่นตัวร้ายกับโรคภูมิแพ้. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/july-2020/dust-mites-allergy
  4. พญ. ปิติยา โรจน์พรประดิษฐ์ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์. ทางเลือกใหม่ของคนแพ้ไรฝุ่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.synphaet.co.th/children-ramintra/แพ้ไรฝุ่น/
  5. โรงพยาบาลพญาไท. แพ้ไรฝุ่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.phyathai.com/article_detail/2047/th/แพ้ไรฝุ่น
  6. โรงพยาบาลแก่นนคร. โรคภูมิแพ้จาก ไรฝุ่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.khonkaenram.com/th/services/health-information/health-articles/beauty/dust-mite
  7. พบแพทย์. แพ้ไรฝุ่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.pobpad.com/แพ้ไรฝุ่น-dust-mite-allergy