เมื่อแม่ท้องเป็นภูมิแพ้ ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ส่งผลต่อลูก

นับว่าเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ที่กำลังตั้งท้องต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร การดูแลตนเองไม่ให้เจ็บป่วย รวมไปถึงการรับประทานยาและอาหารเสริมให้ถูกต้องและครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง เพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์มีร่างกายที่แข็งแรง และพัฒนาการที่สมบูรณ์พร้อมต่อการออกมาเผชิญโลกภายนอก

แต่จะทำอย่างไร? เมื่อแม่ท้องเป็นภูมิแพ้ ซึ่งนอกจากจะต้องคอยกังวลกับภูมิแพ้ของตนเอง และไม่แน่ใจว่าการตั้งครรภ์จะทำให้อาการแพ้หนักขึ้นกว่าเดิมไหม? ยังต้องเป็นห่วงว่าอาการภูมิแพ้จะส่งผลกระทบไปสู่ลูกน้อยในครรภ์หรือเปล่า? และถ้ามีอาการแพ้ขึ้นมาจะรักษาอย่างไรได้บ้าง?

เพื่อช่วยคลายความกังวล บทความนี้จะมาไขข้อสงสัยว่าเมื่อแม่ท้องเป็นภูมิแพ้ต้องดูแลตัวเองอย่างไร 

เมื่อแม่ท้องเป็นภูมิแพ้อะไรได้บ้าง?

สำหรับคุณแม่ที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนตั้งท้อง อาจมีความกังวลว่าอาการภูมิแพ้จะกำเริบขึ้นหรือไม่ในขณะที่ตั้งครรภ์ ต้องขอบอกว่าการตั้งท้องอาจมีผลกับโรคภูมิแพ้อยู่บ้าง แต่ไม่ได้ทำให้อาการแย่ลงเสมอไป ขึ้นอยู่กับอาการของโรคภูมิแพ้แต่ละชนิด รวมถึงการดูแลตนเองของคุณแม่แต่ละคน ซึ่งโรคภูมิแพ้ที่มักจะพบในคุณแม่ที่กำลังตั้งท้อง คือ

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อากาศ

สำหรับอาการที่พบได้เมื่อแม่ท้องเป็นภูมิแพ้อากาศ คือ มีอาการหอบหืด คัดจมูก น้ำมูกใส ๆ ไหลอยู่ตลอด คันจมูกหรือดวงตา และจาม

โรคผื่นภูมิแพ้ขณะตั้งครรภ์

ส่วนอาการที่พบได้เมื่อแม่ท้องเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รูขุมขนอักเสบขณะตั้งครรภ์ และอาการคันขณะตั้งครรภ์

เมื่อแม่ท้องเป็นภูมิแพ้ ส่งผลกับลูกน้อยอย่างไร?

หากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีอาการภูมิแพ้จากระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หายใจไม่สะดวก รวมถึงมีอาการไอ แน่นหน้าอก เหนื่อยและหอบง่าย ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจส่งผลให้ลูกในท้องมีน้ำหนักน้อย คุณแม่เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด หรือเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษได้ จึงต้องควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด รวมถึงควรดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงที่โรคภูมิแพ้จะกำเริบอีกด้วย

เมื่อตั้งท้องแม่จะดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ


เมื่อแม่ท้องเป็นภูมิแพ้ ต้องรับมืออย่างไร?

สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งท้อง และรู้ว่าตนเองเป็นโรคภูมิแพ้อยู่เป็นทุนเดิม ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญกับสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ฝุ่นละออง ซึ่งจัดว่าเป็นตัวกระตุ้นอาการของโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมีวิธีในการป้องกันการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ทั้งหลาย รวมถึงดูแลร่างกายของคุณแม่ให้แข็งแรง ดังนี้

ทำความสะอาดบ้าน

ทำความสะอาดบ้าน เพื่อป้องกันฝุ่นละออง เชื้อรา ขนสัตว์ ที่อาจสะสมอยู่ในบ้านมากเกินไป โดยต้องปัดกวาดเช็ดถูบ้านให้ทั่วถึงทุกจุด และดูดฝุ่นตามซอกมุมและผ้าม่านอยู่เสมอ รวมทั้งเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มเป็นประจำ

ล้างเครื่องปรับอากาศ

เครื่องปรับอากาศเป็นอีกหนึ่งแหล่งสะสมของฝุ่นละอองและเชื้อรา จึงควรต้องให้ช่างมาล้างทำความสะอาดเป็นประจำอย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน และต้องล้างให้ถี่ขึ้นหากบ้านอยู่ใกล้กับพื้นที่ก่อสร้าง หรือมีฝุ่นละอองมาก รวมถึงอยู่ติดถนน

หมั่นล้างทำความสะอาดจมูก

ควรล้างทำความสะอาดจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคและฝุ่นละออง รวมถึงสารกระตุ้นภูมิแพ้ต่าง ๆ และลดอาการระคายเคืองในโพรงจมูก

รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเน้นอาหารที่มีสารอาหารจำพวกโปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน และโฟเลต เพื่อช่วยบำรุงลูกน้อยในท้องให้เติบโตแข็งแรง และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ อาหารรสจัด อาหารหมักดอง รวมถึงอาหารสำเร็จรูป

ออกกำลังกายเป็นประจำ

ควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดิน แกว่งแขน หรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ รวมถึงการเต้นแอโรบิกในน้ำ หรือบนบกแบบเบา ๆ ทั้งยังสามารถว่ายน้ำ หรือทำกายบริหารแบบยืดเส้น เพื่อเป็นการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้แข็งแรง นอกจากนี้ ยังมีโยคะที่เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งท้อง แต่ต้องทำภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ที่สำคัญต้องไม่หักโหมจนเหนื่อยหอบ เพราะเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจนได้

รักษาความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ

ควรรักษาความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ โดยอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และสระผมวันเว้นวัน รวมถึงหลังจากออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมนอกบ้านเสร็จ ควรกลับมาอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เพื่อกำจัดสิ่งสกปรก เชื้อโรค ฝุ่นละออง และสารก่อภูมิแพ้ที่อาจแฝงตัวมาออกจากร่างกาย

พักผ่อนให้เพียงพอ

ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน และควรทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียดหรือเป็นกังวลมากจนเกินไป เพราะจิตใจที่แข็งแรง จะช่วยให้ร่างกายของทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์แข็งแรงตามไปด้วย

เมื่อแม่ท้องเป็นภูมิแพ้สามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อให้จ่ายยาแก้แพ้มารับประทาน ซึ่งควรทานในปริมาณและระยะเวลาตามที่แพทย์แนะนำ

ข้อมูลอ้างอิง

  1. theAsianparen โดย รศ.พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี. โรคภูมิแพ้ในแม่ท้องเสี่ยงต่อความผิดปกติของลูกในครรภ์หรือไม่. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 จาก https://th.theasianparent.com/โรคภูมิแพ้ในแม่ท้อง/
  2. Hello คุณหมอ. คนท้องกินยาแก้แพ้ ทำได้ไหม จะปลอดภัยหรือเปล่า. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 จาก https://hellokhunmor.com/การตั้งครรภ์/ระหว่างตั้งครรภ์/คนท้องกินยาแก้แพ้-ยาที่กินได้-ยาที่ควรเลี่ยง/
  3. Hello คุณหมอ. โรคผิวหนังระหว่างตั้งครรภ์ ที่พบได้บ่อย มีอะไรบ้าง. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 จาก https://hellokhunmor.com/การตั้งครรภ์/ระหว่างตั้งครรภ์/ปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์/โรคผิวหนังระหว่างตั้งครรภ์-ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์/
  4. โรงพยาบาลเพชรเวช. คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง ?. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/what_food_pregnant_do_not_eat
  5. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. เรื่อง “ควรหรือไม่ควร...การออกกำลังกายในขณะตั้งครรภ์”. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1291#:~:text=การออกกำลังกายในขณะตั้งครรภ์ที่เหมาะสม%20คือ,มีผลต่อลูกน้อย